เราสามารถแบ่งประเภท สิวได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ
1. สิวอุดตัน เกิดจากการอุดตันของรูขุมขน (Comedone) แบ่งเป็น 2 ชนิด
1.1 สิวหัวปิด (Close comedones) จะเห็นเป็นตุ่มเล็ก ๆ หัวขาวๆ
1.2 สิวหัวเปิด (Open comedones) หรือสิวหัวดำ
2. สิวอักเสบคือสิวที่หัวแดงอักเสบ (Inflame papules) เป็นหนอง (Pustule) หรือพบคลำได้เป็นไตแข็งๆ ใต้ผิวหนัง มักกดเจ็บ (Nodulocystic) ซึ่งสิวกลุ่มนี้คือ สิวอุดตันที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดสิว มีอยู่หลายประการ อย่างเช่น
โดยปัจจัยหลัก ๆ แบ่งได้ 2 ปัจจัยดังนี้
· ปัจจัยภายใน ได้แก่ ปัจจัยที่เกิดจากร่างกายเราเอง เช่น
● HORMONE โดยระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน จะมีระดับสูงในช่วงวัยรุ่นโดยเฉพาะเพศชาย ทำให้เราพบสิวในช่วงอายุนี้มากกว่าช่วงอื่น ฮอร์โมนนี้จะไปกระตุ้นให้ต่อมไขมันมีขนาดใหญ่ขึ้น มีการสร้างไขมันออกมามากขึ้น หรือ ช่วงตั้งครรภ์ เนื่องจากระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่ เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีการบวมของรูขุมขนและการคั่งของน้ำในร่างกาย หรือ โรคบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน เช่น โรคถุงน้ำ ในรังไข่ (polycystic ovary syndrome)
● ความเครียด กระตุ้นต่อมไขมันให้ทำงานมากขึ้น และ เกิดกลไกการอักเสบมากขึ้น
● กรรมพันธุ์ และ โรคทางต่อมไร้ท่อบางชนิด
· ปัจจัยภายนอก ได้แก่
● ยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยากันชัก ยารักษาวัณโรค
● เครื่องสำอาง ในคนที่มีโอกาสเป็นสิวง่าย แนะนำให้พยายามใช้เครื่องสำอางให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และควรจะเลือกผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าไม่ทำให้เกิดสิวอุดตันหรือสิวอักเสบ (noncomedogenic และ non-acnegenic)
● อาหารบางชนิด เช่น นมวัว, whey protein, อาหารน้ำตาลสูง อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่ถ้าสังเกตว่าอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง ทำให้อาการสิวอักเสบแย่ลง อาจลองหลีกเลี่ยงหรือหยุดรับประทานอาหารชนิดนั้นๆ
● สิ่งที่ระคายเคืองผิว เช่น การขัดหน้า นวดหน้า หรือ สภาวะแวดล้อมต่างๆ
การรักษาสิวโดยทั่วไปคือ การป้องกันการเกิดสิวใหม่ และลดการอักเสบของรอยโรคเดิมลง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา ปัจจุบันการรักษาสิวมีทั้งยาทาเฉพาะที่และยารับประทาน โดยจะเลือกใช้วิธีรักษาแบบใด ขึ้นกับความรุนแรงของสิวในขณะนั้น
1. ยาทาเฉพาะที่ ได้แก่ ยาปฏิชีวนะ, ยาละลายหัวสิว, ยาในกลุ่มกรดวิตามินเอ
2. ยารับประทาน ได้แก่ ยากลุ่มกรดวิตามินเอ ยาคุมกำเนิด ยาปฏิชีวนะ ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
3. การกดสิว และ ฉีดสิว ควรทำโดยแพทย์ผู้รักษาเพื่อขจัดสิวอุดตัน แต่ไม่ควรบีบหรือแกะสิวเอง เนื่องจากอาจเกิดการติดเชื้อซ้ำลงไปบริเวณนั้นและทำให้เกิดรอยดำหรือแผลเป็นตามมาได้ ในกรณีที่เป็นสิวอักเสบมาก แพทย์อาจพิจารณาฉีดยากลุ่มสเตียรอยด์ เข้าไปในตำแหน่งที่เกิดสิวอักเสบนั้น ก็จะช่วยให้สิวยุบลงได้
4. การฉายแสงสีฟ้า แสงสีแดง จะช่วยเสริมผลการรักษาสิวให้หายเร็วขึ้นด้วย
5. การทำเลเซอร์ ลดรอยดำ รอยแดง การทำเลเซอร์ลดหลุมสิว
เคล็ดลับห่างไกลสิว
สิวอาจเป็นเรื่องธรรมดา แต่การรักษาไม่ได้ง่าย การพบแพทย์ผิวหนังเพื่อได้รับการรักษานั้นจำเป็น เพื่อหาสาเหตุ และ วิธีการรักษาที่ถูกต้อง แม้ว่าอาการของสิวจะอยู่ในระยะแรก หรือเพิ่งเริ่มเป็นสิว เพราะถ้าเริ่มรักษาเร็วก็จะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาดี และลดความเสี่ยงในการเกิดรอยแผลเป็นสิวอีกด้วย